ขับรถชนคนเสียชีวิตต้องทำยังไง? 6 วิธีรับมือและสิ่งที่ควรทำ

อุบัติเหตุบนท้องถนนนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาซึ่งอาจนำมาซึ่งการสูญเสียทรัพย์สิน การบาดเจ็บ หรือการเสียชีวิต การขับรถชนคนเสียชีวิตเป็นเรื่องที่ร้ายแรงและฉุกเฉินที่ต้องรีบจัดการให้เร็วที่สุด โดยสิ่งที่ผู้ขับขี่ควรทำหลังเกิดอุบัติเหตุมีดังต่อไปนี้ 

1. ตั้งสติและโทรหาหน่วยงานฉุกเฉินทันที

ผู้ขับขี่ควรสงบสติอารมณ์ และโทรหาหน่วยงานฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด เช่น สายด่วนเหตุด่วน 191 หรือหน่วยงานด้านการช่วยเหลือของท้องถิ่น พยายามรายงานเหตุการณ์อย่างชัดเจน ให้ข้อมูลที่จำเป็นแก่เจ้าหน้าที่ เช่น สถานที่เกิดเหตุ จำนวนผู้บาดเจ็บ จำนวนผู้เสียชีวิต หรือข้อมูลเพิ่มเติมที่สามารถช่วยให้การช่วยเหลือมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เมื่อเกิดอุบัติเหตุและในกรณีขับรถชนคนบาดเจ็บ ทุกวินาทีมีความหมายและอาจส่งผลต่อความเป็นความตายหรือความสาหัสของอาการได้ บุคคลที่เราเชื่อว่าเสียชีวิตแล้วอาจยังสามารถถูกให้ความช่วยเหลือเพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เมื่อเกิดเหตุขึ้นผู้ขับขี่จึงควรติดต่อหน่วยงานฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุด

2. ลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุซ้ำจากรถคันอื่น

ระวังให้มั่นใจว่าไม่มีอันตรายจากการที่ผู้ขับขี่ คู่กรณี และรถ ยังอยู่บนถนน พยายามจำกัดพื้นที่และทำเครื่องหมายสัญญาณบ่งบอกพื้นที่ให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ขับขี่อื่นสังเกตได้ว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น โดยอาจมีเปิดไฟฉุกเฉินไว้หากรถยนต์ยังใช้ได้ และทำการวางป้ายหรือสิ่งของที่มองเห็นได้เด่นชัดในบริเวณพื้นที่อุบัติเหตุ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำจากรถยนต์ที่ยังอยู่บนถนน

3. โทรหรือใช้แอปเรียกเจ้าหน้าที่ประกันรถยนต์

หลังจากติดต่อหน่วยงานฉุกเฉินแล้วควรติดต่อประกันรถยนต์ที่ใช้บริการอยู่เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้ามาตรวจสอบข้อมูลในสถานที่เกิดอุบัติเหตุรถชนได้ โดยบางบริษัทประกันรถยนต์บางบริษัทได้ให้ช่องทางในการขอความช่วยเหลือฉุกเฉินผ่านแอปซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถรับรู้ตำแหน่งที่เกิดเหตุได้ทันทีผ่านแอป ช่วยลดระยะเวลาการสื่อสารลงและทำให้เจ้าหน้าที่มาถึงได้ไวขึ้น การเรียกประกันรถยนต์นั้นอาจใช้เวลาไม่นานหรือนานขึ้นกับบริษัทประกันรถยนต์ที่ผู้ขับเลือกใช้ เช่นเดียวกับตำแหน่งและช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุ

ในกรณีของอุบัติเหตุที่มีคู่กรณีนั้น พ.ร.บ.หรือประกันรถยนต์ภาคบังคับจะช่วยให้เป็นเงินชดเชยและค่ารักษาพยาบาลไม่ว่าผู้ขับขี่จะเป็นคนผิดหรือไม่ก็ตาม และประกันรถยนต์ภาคสมัครใจจะช่วยคุ้มครองค่าใช้จ่ายในส่วนที่เหลือที่พ.ร.บ.ไม่ได้คุ้มครองรวมทั้งค่าสินไหมทดแทนและค่ารักษาพยาบาล โดยประกันรถชั้น 1 คุ้มครองผู้เอาประกันและคู่กรณี แต่ประกันรถชั้น 3+ คุ้มครองแค่คู่กรณีเท่านั้น 

4. ถ่ายรูปสถานที่เกิดเหตุและความเสียหายไว้เป็นหลักฐาน

หลังจากแน่ใจแล้วว่าบริเวณโดยรอบปลอดภัย มีความเสี่ยงน้อยจากการเกิดอุบัติเหตุซ้ำ และได้ทำการติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ผู้ขับขี่สามารถถ่ายรูปสถานที่เกิดเหตุและความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นไว้เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับการขอเคลมประกันหรือใช้ประกอบการพิจารณาคดีความ เช่น ถ่ายบริเวณรถยนต์ที่เสียหาย, ถ่ายจุดที่ที่ผู้บาดเจ็บล้มลง, และอื่นๆ  หากมีกล้องติดหน้ารถ ภาพและวิดีโอจากกล้องสามารถใช้เป็นหลักฐานได้เช่นกัน

5. อย่าชนแล้วหนี

เป็นเรื่องปกติที่เมื่อเกิดอุบัติเหตุกรณีขับรถชนคนเสียชีวิต ผู้ขับขี่อาจจะยังไม่สามารถประมวลผลและยอมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ผู้ขับขี่อาจกลัวอย่างหนักถึงผลกระทบที่ตามมาและมีความรู้สึกที่อยากจะหนีไปจากสถานการณ์นั้น อย่างไรก็ตามการที่เกิดอุบัติเหตุและผู้ขับขี่หนี หรือชนแล้วหนีนั้น จะทำให้ผลกระทบที่ตามมายิ่งรุนแรงขึ้น การชนแล้วหนีจะมีโทษทั้งจำคุกและปรับเพิ่มเติมจากความรับผิดชอบในอุบัติเหตุ โดยโทษสูงสุดกรณีมีผู้บาดเจ็บหรือถึงแก่ชีวิตคือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งการชนแล้วหนีอาจจะทำให้ศาลอนุมานไปก่อนทันทีว่าผู้ขับขี่เป็นฝ่ายผิด

การขับรถชนคนตายแล้วหนียังอาจทำให้โทษเบากลายเป็นหนักได้ เพราะในหลายกรณีที่ศาลตัดสินโทษหนักให้ผ่อนเป็นเบาสำหรับผู้ขับขี่ที่มีการจอดรถลงไปให้ความช่วยเหลือและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น ให้รอลงอาญาแทนที่จะสั่งจำคุกในทันที 

6. ดูแลสุขภาพจิตหลังอุบัติเหตุ

การเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ร้ายแรงอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้ขับขี่ ควรพยายามหาความช่วยเหลือจากผู้ที่เราไว้ใจ เช่น คนในครอบครัว หรือผู้ใกล้ชิด หรืออาจปรึกษานักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง

สิ่งที่อาจจะตามมาหลังอุบัติเหตุคือความกลัว, ความรู้สึกผิด, ความเหนื่อย, และความเครียดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและสิ่งที่ต้องจัดการหลังจากอุบัติเหตุ ผู้ขับขี่ควรมีการตระหนักถึงสุขภาพจิตตัวเอง คอยสังเกตตัวเองหากมีภาวะดังกล่าวเกิดขึ้น และขอความช่วยเหลือหากจำเป็น 

อุบัติเหตุที่ทำให้คนตายเป็นเรื่องที่ฉุกเฉินและต้องมีการจัดการอย่างรีบเร่งและมีความรอบคอบ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือทั้งผู้เสียหายและผู้ที่เป็นตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์นี้ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

แชร์บทความนี้